โป๊ยกั๊ก..ยาดีใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม!!
advertisement
โป๊ยกั๊ก เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่ชาวจีนนิยมนำมาปรุงอาหาร ใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร ช่วยชูรสชูกลิ่น ให้หอมอร่อยน่ากินมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอาหารจีนแบบดั้งเดิม และผลของโป๊ยกั๊กยังสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นของเครื่องดื่ม ลูกอม ลูกกวาด ทอฟฟี่ ขนมหวาน ขนมผิง ขนมเค้ก แยม เยลลี่ ซีอิ๊ว ซอสต่างๆ หรือเนื้อกระป๋อง ฯลฯ ได้ด้วย เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ตลอดจนบ้านเราก็มีการนำเข้าโป๊ยกั๊กจากเมืองจีนด้วยเช่นกัน เพื่อประโยชน์ในการใช้ปรุงอาหารได้ อย่างเช่นน้ำพะโล้ น้ำก๋วยจั๊บ ใส่ในเครื่องแกงกระหรี่หรือมัสมั่น ทั้งนี้แล้วโป๊ยกั๊กยังมีประโยชน์สรรพคุณเป็นยาที่น่าสนใจอีกด้วย ตาม Kaijeaw.com มาดูกันค่ะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Illicium verum Hook.f.
จัดอยู่วงศ์ SCHISANDRACEAE
สมุนไพรโป๊ยกั๊ก มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่นๆ ว่า โป๊ยกั๊กจีน จันทร์แปดกลีบ จันทน์แปดกลีบ แปดแฉก (โป๊ย แปลว่า “แปด” ส่วน กั๊ก แปลว่า “แฉก”) เป็นต้น
ลักษณะของโป๊ยกั๊ก
ต้นโป๊ยกั๊ก : เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แต่มีความสูงได้ถึง 18 เมตร
ใบ : ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกกลับถึงรูปรีแคบ โคนใบสอบ ปลายใบแคบเป็นแถบยาว ส่วนปลายสุดเว้าหรือแหลม
[ads]
ดอก : ดอกเป็นดอกเดียว มีสีเหลือง บางครั้งอาจแต้มด้วยสีชมพูถึงสีแดง ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมแกมรูปถ้วย กลีบดอกมี 10 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้างขอบกลีบมีขนและเป็นกระพุ้ง ก้านดอกมีความยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร
ผล : ผลมีลักษณะเป็นกลีบโดยรอบ มองเห็นได้เป็นรูปดาว มีกลีบประมาณ 5-13 กลีบ แต่ที่พบมากโดยส่วนใหญ่มักจะเป็น 8 กลีบ ผลแห้งมีกลีบหนาแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม ในกลีบแต่ละกลีบจะมีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปไข่และแบน ผิวมีสีน้ำตาลเรียบและเป็นเงา ผลมีกลิ่นหอมและมีรสร้อน ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรคือผลแก่
สรรพคุณของโป๊ยกั๊ก : ผลและเมล็ดโป๊ยกั๊ก ทั้งแบบแห้งและป่นใช้เป็นเครื่องเทศและเป็นยาสมุนไพร
– มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย
– ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคต่างๆ ให้กับร่างกาย ด้วยการใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำอุ่นสุกดื่ม แต่สำหรับเด็กเล็กมากให้ใช้น้ำมันโป๊ยกั๊กมาทาบริเวณฝ่าเท้า จะทำให้เท้าอุ่นช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้ดีมาก
– โป๊ยกั๊กสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเป็นหยาง ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายในช่วงอากาศเย็นชื้น มีรสร้อนนิดเจือหวานเล็กน้อย ไม่เผ็ดร้อนมากจนเกินไปเหมือนสมุนไพรชนิดอื่น ๆ วิธีการรับประทานก็ให้ใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชาชงกับน้ำอุ่น 1 แก้วกาแฟ ใช้ดื่มหลังอาหารในช่วงเช้าหรือเย็น หรือในช่วงที่มีอากาศเย็น
– ช่วยแก้หวัด ลดไข้ เมล็ดโป๊ยกั๊กเมื่อนำมาสกัดจะได้กรดชิคิมิค (Shikimic Acid) อันเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการสังเคราะห์ยาทามิฟลู (Tamiflu) ซึ่งตัวยามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสได้หลายชนิด รวมไปถึงไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ 2009
– น้ำมันหอมระเหยใช้ผสมกับชะเอมช่วยแก้อาการไอ น้ำมันหอมระเหยประมาณ 1-4 หยดผสมกับชะเอมใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ และน้ำมันหอมระเหยนำมาใช้ผสมในยาผงสำหรับแก้หืด และยาสำหรับสัตว์
– ช่วยรักษาอาการอักเสบเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ
– รักษาระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ
– ช่วยแก้อาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย แก้อาการท้องอืด จุกเสียดในเด็กทารก ช่วยขับลมในลำไส้
– ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ช่วยแก้อัณฑะบวม และไส้เลื่อน
– ช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้กับกล้ามเนื้อ ช่วยระงับความเจ็บปวด ช่วยแก้ตะคริว หรือเหน็บชาตามข้อมือข้อเท้า
– ช่วยรักษาโรครูมาติสม์ (Rheumatism) ระงับอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดหลัง ปวดเอว ด้วยการใช้ผงโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชานำมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น
– ส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ ช่วยรักษาวัยทองในเพศชาย ช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศ ช่วยส่งเสริมสุขภาพของอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง ช่วยเพิ่มการหลังน้ำนมของสตรีหลังคลอดบุตร
[yengo]
ประโยชน์ของโป๊ยกั๊ก
– สารอาหารที่สำคัญในโป๊ยกั๊ก อุดมไปด้วยแคลเซียมซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและฟัน และธาตุเหล็กที่ช่วยในการบำรุงโลหิต โดยคุณค่าทางโภชนาการของโป๊ยกั๊ก ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย โปรตีน 31%, คาร์โบไฮเดรต 31%, เส้นใยอาหาร 38%, ไขมัน 0%, วิตามินเอ 10.5%, วิตามินซี 35%, ธาตุแคลเซียม 65%, ธาตุเหล็ก 62%, ธาตุโพแทสเซียม 31%, และธาตุโซเดียม 1%
– ผลและเมล็ดโป๊ยกั๊ก ทั้งแบบแห้งและป่นใช้เป็นเครื่องเทศและเป็นยาสมุนไพร
– น้ำมันโป๊ยกั๊กที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำ ใช้เป็นส่วนผสมของยาและยาอมแก้ไอ ใช้ในการแต่งกลิ่นและดับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของยา น้ำหอม เครื่องสำอาง ครีมและโลชั่นบำรุงผิว สูบู่ น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน ผงซักฟอก ฯลฯ
หมายเหตุ : โป๊ยกั๊กที่ใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหารและใช้ทำยาในที่นี้คือ สมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า illicium verum ซึ่งทั่วโลกรู้จักกันดีในชื่อว่า โป๊ยกั๊กจีน (Chinese star anise) หรือมีชื่อในภาษาอาหรับว่า บาเดียน(badian) ชาวอินเดียเรียกว่า บาเดียนคาไต(badian khatai) และในแหลมมาลายูแถบมาเลเชีย อินโดนีเชียเรียกว่า บุหงาลาหวัง (bunga lawang) ซึ่งต้องจดจำให้ดีว่าเป็นคนละชนิดกับโป๊ยกั๊กญี่ปุ่น(Japanese star anise) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ illicium anisatum ซึ่งถ้ากินเข้าไปมากอาจมีพิษถึงตาย เนื่องจากมีสารพิษอนิซาติน (anisatin) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรงและทำให้เกิดอาการอักเสบในไต ท่อปัสสาวะรวมทั้งในอวัยวะในระบบย่อยอาหารด้วย โดยปกติโป๊ยกั๊กญี่ปุ่นเขานำมาทำเป็นธูปกำยานในพิธีกรรม ห้ามนำมาบริโภคโดยเด็ดขาด
ปัจจุบันมีงานวิจัยทั่วโลกรับรองสรรพคุณยาสมุนไพรมากมายของโป๊ยกั๊กจีนนะคะ จึงเชื่อได้ว่าได้ผลดีจริง ดังนั้นหากจะใช้โป๊ยกั๊กเป็นยาควรอยู่ภายใต้การแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และอย่าลืมใช้โป๊ยกั๊กเป็นเครื่องเทศในอาหารที่คุณชื่นชอบด้วยนะคะ เพียงเท่านี้ก็จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com