ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง..ดูแลตัวเองอย่างไร?

advertisement
อาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวันนั้น ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย อาหารที่ดี ทานอย่างพอเหมาะ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่หากเลือกรับประทานอาหารที่ส่งผลเสียมากกว่าส่งผลดี และทานอย่างไม่พอดีก็แน่นอนว่าจะเกิดโทษต่อสุขภาพ บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินเรื่องของปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง อันเป็นสาเหตุของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ เช่นเดียวกับการมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง สาเหตุหลักๆ มักเกิดมาจากร่างกายได้รับปริมาณไขมันสะสมมากจนเกินไป หลายคนมารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจจากแพทย์แล้ว ดังนั้นสำหรับใครที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ควรต้องดูแลตัวเอง ให้มากขึ้นกันแล้วนะค่ะ
ไตรกลีเซอไรด์ คือ อนุภาคไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นในตับ มีขนาดเบาบางและเล็กมาก ไขมันชนิดนี้ยังเพิ่มพูนในร่างกายของเราได้จากอาหารที่เรากินเข้าไป อาหารประเภทไขมันโดยส่วนใหญ่จะมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช ไขมันสัตว์ หรือไขมันที่ซ่อนอยู่ในเนื้อ นม หรืออาหารอื่นๆ ร่างกายจะดูดซึม ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ผ่านเลือดส่งไปยังเซลล์ต่างๆ ที่ต้องการพลังงาน หากไตรกลีเซอไรด์ที่มากเกินไปจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน (body fat) แล้วพอกพูนตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจนร่างกายอ้วนขึ้น
โดยปกติแล้วร่างกายขจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากเลือดได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่สองสามชั่วโมงหลังจากการกินอาหาร ไขมันไตรกลีเซอไรด์ส่วนใหญ่ก็ถูกขจัดออกจากเลือดเข้าสู่เซลล์ได้แล้ว คนทั่วไปจึงมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไม่สูง คือประมาณ 50-150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าตรวจเลือดหลังอดอาหารมาแล้ว 8-12 ชั่วโมง พบว่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป นั่นแสดงได้ว่าร่างกายมีปัญหาในการขจัดไตรกลีเซอไรด์
advertisement

อันตรายของไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเกินปกติ
โดยค่าปกติของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเท่ากับ 50 – 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
– ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ เนื่องจากการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดที่มากผิดปกติ เช่นเดียวกับการมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง นั่นเป็นเพราะไตรกลีเซอไรด์ปริมาณสูงทำให้เลือดข้นเหนียวขึ้น เกิดการจับตัวกันเป็นลิ่มและอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่หัวใจและสมอง
– ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการศึกษาพบว่า คนที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงเป็นเวลานานจะทำให้ระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลที่ดีในเลือดลดต่ำลงด้วย ดังนั้นไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่สูงร่วมกับเอชดีแอลต่ำ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
– อาจจะทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบได้
– ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงสูงขึ้นด้วย เพราะระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูง จะไปกระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไหลเวียนอยู่สูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นมะเร็งเต้านมนั่นเอง
[ads]
advertisement

สาเหตุที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
1. อาหาร ร่างกายสร้างไตรกลีเซอไรด์จากพลังงานส่วนเกิน ที่รับประทานอาหารเข้าไปมากกว่าความจำเป็นที่ต้องการใช้ และออกกำลังกายน้อยเกินไป และยังสังเคราะห์ได้จากอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล เช่น
– อาหารหวาน ขนมหวาน น้ำอัดลม
– เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์
– อาหารต่างๆ ที่มีไขมันอิ่มตัวสูง โคเลสเตอรอลสูง
2. กรรมพันธุ์ เช่น ร่างกายขาดเอนไซม์ที่ย่อยไตรกลีเซอไรด์ จึงขจัดไตรกลีเซอไรด์ได้ช้าผิดปกติ คนกลุ่มนี้มักมีค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากอาจสูงได้ถึง 800-1,000 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
3. โรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ยาคุมกำเนิด ไขมันจากปลาทะเล (Fish oil) สามารถลดไตรกลีเซอไรด์และเพิ่ม HDL ทำให้เกล็ดเลือดจับตัวน้อยยลง
ข้อควรปฎิบัติเพื่อป้องกันและดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
1. หลีกเลี่ยงอาหาร ที่ให้พลังงานสูงเช่น
– น้ำตาลทุกชนิด น้ำผึ้ง ขนมหวาน เช่น สังขยา ขนมชั้น ฝอยทอง ขนมเค็ก คุกกี้
– น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ชา กาแฟ เหล้า เบียร์ ไวน์
– ผลไม้รสหวานจัด เช่น องุ่น ลำไย ขนุน ทุเรียน อ้อย มะม่วงสุก ละมุด น้อยหน่า ลิ้นจี่ รวมทั้งผลไม้แช่อิ่ม หรือ เชื่อมน้ำตาล และผลไม้กวน
2. จำกัดอาหารที่ให้พลังงาน
– ข้าว แป้ง เผือก มัน ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ขนมจีน ขนมปัง บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว
– อาหารไขมันอิ่มตัวสูง โคเลสเตอรอลสูง เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ หมู่ 3 ชั้น ของทอดน้ำมันมากๆ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เนย
– ผักที่มีหัว หรือมีแป้งมาก เช่น หัวหอม หัวผักกาด ถั่วงอกหัวโต หัวปลี ฝักทอง แครอท ผลไม้บางอย่าง เช่น เงาะ สับประรด มะละกอ กล้วย
[ads]
3. เลือกรับประทานผักให้มากโดยเฉพาะผักใบเขียว ผักทุกชนิด (ยกเว้นผักที่มีแป้งมาก) รวมทั้งผลไม้ เน้นทานชนิดที่ไม่หวาน เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่
4. ทานอาหารโปรตีนประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ไก่-เป็ด (ลอกหนัง) หมู-เนื้อ (ไม่ติดมัน) อาหารโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว เต้าหู้
5. กินปลาทะเลที่มีไขมันโอเมกา 3 สูง ปรุงด้วยวิธีการนึ่ง 2-3 มื้อต่อสัปดาห์ จะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดได้ค่อนข้างดี โดยต้องลดการกินไขมันโดยรวม (โดยเฉพาะไขมันสัตว์)
6. ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้าควรกินมื้อเช้าให้อิ่ม เพราะพลังงานที่ได้จากมื้อเช้าจะถูกนำไปใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดวัน การกินอาหารมื้อเช้าให้พลังงานประมาณ 1 ใน 4 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน ซึ่งเท่ากับปริมาณพลังงานที่ควรได้รับในมื้อเย็น ที่เหลือประมาณครึ่งหนึ่งควรได้จากมื้อกลางวันและอาหารว่างมื้อเล็กๆ การรับประทานอาหารแบบนี้ จะทำให้ไม่มีพลังงานเหลือนำไปสร้างเป็นไตรกลีเซอไรด์ได้
7. งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ อันมีผลไปกระตุ้นตับให้ผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น และยังทำให้การเคลื่อนย้ายไขมันออกจากเลือดได้ช้ากว่าปกติด้วย
8. ควบคุมน้ำหนักตัว ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง พบได้บ่อยในคนอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ้วนแบบลงพุงกะทิ ควรพยายามลดน้ำหนักตัวลงให้ได้ร้อยละ 5-10 จากน้ำหนักเดิม
9. ระวังยา การกินยาบางชนิดอาจทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ไธอาไซด์ ฮอร์โมนเพศหญิง ยาคุมกำเนิดบางชนิด หากต้องกินยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ และมีการตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์อย่างสม่ำเสมอ
10. ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 20 – 30 นาที อาทิตย์ละ 3 ครั้ง โดยไม่หักโหม จะช่วยเผาผลาญแคลอรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไขมันร้ายอย่างไตรกลีเซอไรด์ มีอันตรายมากกว่าที่จะทำให้อ้วน หุ่นไม่สวยเท่านั้นนะคะ แต่ยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายมากมาย ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุด คือการป้องกันตนเอง หรือถ้าหากว่าใครที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต และดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้นกันแล้วนะคะ จะได้สุขภาพดีห่างไกลโรคค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com