7 ข้อคิดทางการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่ ทำไว้เพื่ออนาคต

advertisement
ไม่ว่าจะเจเนอเรชันไหนๆ เรื่องการเงินก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรให้ความสำคัญเสมอ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่อย่างเราๆ ที่กำลังเริ่มก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เมื่อเริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง หรือคนทำงานเองก็ต้องให้ความสำคัญ มาดู 7 ข้อคิดทางการเงินที่เรานำมาฝากกัน จาก The Money Coach จักรพงษ์ เมษพันธุ์ โดยบทความเขียนไว้ดังนี้
advertisement

1. อย่าก่อหนี้ “จน” -หนี้บริโภคต่างๆ ที่ก่อขึ้นแล้วจะทำให้เรามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล, ผ่อนของ หรือแม้กระทั่งหนี้นอกระบบ เป็นต้น อย่าคิดว่า ชำระขั้นต่ำไปก่อน เพราะถ้ายิ่งจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มพูนไปอีกบางที ดอกเบี้ยนั้นอาจสูงถึง 10-20% เลยก็ได้
ดังนั้น 10 ปีแรกของการทำงาน ไม่ควรมีหนี้บริโภคเหล่านี้ จะช่วยให้เรามีแต้มต่อในชีวิตที่ดี จำไว้ว่ายิ่งอายุที่มากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้นตาม ยกตัวอย่างเช่น หนี้สินทั้งหมด ซึ่งรวมกันไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ สิ่งที่ควรทำคือ สำรวจรายการค่าใช้จ่ายประจำ ในแต่ละเดือน เพื่อจำกัดวงเงินในการก่อหนี้ และจัดสรรให้เป็นระเบียบ
เช่น รายได้ 50,000 – เงินออม 10% (5,000 บาท) – ค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆ 30% (15,000 บาท) – หนี้บัตร/สินเชื่อ 40% (20,000 บาท) คงเหลือใช้จ่ายในเดือนนั้น 10,000 บาท หาร 30 วัน เฉลี่ยวันละ 333 บาท หากพิจารณาแล้วว่าไม่เพียงพอ สิ่งที่จำเป็นต้องลดคือ “หนี้ที่เราเลือกได้” และปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้เงินทันที
2. ออม 20% ของรายได้ ออมให้เป็นนิสัย ยิ่งเริ่มออมเร็ว ยิ่งสร้างโอกาสมั่งคั่งได้เร็ว แม้ในช่วงแรกๆ อาจรู้สึกอึดอัด หรือฝืนใจในการออมบ้าง แต่พอลงมือทำไปสักพัก เราจะเริ่มคุ้นเคยกับการออมเงินมากขึ้น และจะเห็นว่าตัวเลขในบัญชีเริ่มเพิ่มขึ้น เช่น เริ่มต้นลองออมเดือนละ 20% ของรายได้ก่อน ประมาณว่ามีเงินเดือน 10,000 บาท ก็ให้เก็บไว้เป็นเงินออมเลย 2,000 บาท จากนั้นอีก 8,000 ที่เหลือค่อยมาจัดสรรว่าจะไปใช้กับค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง
3. ศึกษาเรื่อง “การเงิน การลงทุน” ความรู้เรื่องการเงิน เป็นสิ่งที่สำคัญเปรียบเสมือนยาสารพัดโรค ที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการเงินได้ การเรียนรู้เรื่องการเงินและการลงทุนนั้นสามารถนำพาเราไปสู่ความมั่งคั่งในอนาคตได้ เราต้องรู้จักการต่อยอดของเงินหรือเอา “เงินต่อเงิน”
– ยกตัวอย่างเช่น ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เป็นหนึ่งในไอดอลของนักลงทุนหลายๆ คนในโลก แต่ใครจะรู้บ้างว่า เคล็ดลับของเขาคือ 'ดอกเบี้ยทบต้น' เขาที่ไม่ได้รอแค่ผลตอบแทนเพียง 0.5-1% เท่านั้น แต่เขาเลือกที่จะต่อยอดผลตอบแทนให้เกิดขึ้นแบบทวีคูณ เช่น ดอกเบี้ยที่ 12% จะทำให้เงินลงทุนเราเพิ่ม 2 เท่าทุกๆ 6 ปี เงินมันโตแบบนี้ 1 ล้าน..2..4..6..12..24..48..96… ดังนั้น การศึกษาเรื่องการเงิน การลงทุน เพื่อให้เราเข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้น จะส่งผลต่อยอดสู่ความมั่งคั่งได้อย่างแน่นอน
4. เน้นการทำงานเพื่อ “สร้างประสบการณ์” 10 ปีแรกของการทำงาน หรือการเริ่มต้น อย่าหวังเพียงเศษเงินไม่กี่พันบาท ที่คิดว่าเราได้น้อยกว่าคนอื่นๆ แต่จำไว้ว่า ความรู้ซื้อหาได้ แต่ประสบการณ์หาซื้อไม่ได้ จงเลือกเรียนรู้ที่จะสร้างประสบการณ์ นานวันเข้าประสบการณ์เหล่านั้น จะเปลี่ยนเป็นเงินแทนเองได้ สิ่งที่สำคัญคือ เก็บและสะสมประสบการณ์ให้มาก แล้วรู้มูลค่าในตัวเอง มูลค่าเหล่านั้น จะนำพาตัวเงินมาให้เราได้อย่างมหาศาลและทวีคูณ
5. “สร้างทรัพย์สิน” ก่อน “ซื้อหนี้สิน” ถ้าอยากสำเร็จทางการเงิน ต้องรอคอยความสำเร็จให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ หรือหนี้ก้อนใหญ่ ถ้าอยากจะซื้อ ให้สร้างทรัพย์สินก่อนซื้อหนี้สิน ให้ทรัพย์สินสร้างกระแสเงินสดให้เราแทน จะได้ไม่เป็นภาระทางการเงิน จำไว้ว่า คนที่ประสบปัญหาทางการเงินส่วนใหญ่ มักซื้อหนี้สิน และใช้ความสะดวกสบายก่อน ส่วนคนที่ประสบความสำเร็จด้านการเงินนั่น จะอดทนสร้างทรัพย์สิน เพื่อให้ทรัพย์สินผ่อนจ่ายหนี้สินให้ตัวเองแทน[ads]
6. ทำอะไรให้นึกถึง “วันข้างหน้า” เสมอ ถามตัวเองเสมอว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้ เป็นจิ๊กซอสู่ความสำเร็จ และเป็นเป้าหมายในอนาคตของเราหรือไม่ ถ้าใช่…ใส่ให้หนัก ถ้าไม่ใช่ก็หลีกเลี่ยง อีกเรื่องการเตรียมตัวเพื่อให้รับมือกับวิกฤตทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น เจ็บป่วย ตกงาน หรือเสียชีวิต ทั้งหมดนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ ตลอดเวลา ดังนั้น “ศัตรูของเงินออม” อาจมาในรูปแบบของเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เราจึงต้องเตรียมตัวรับมือ เช่น การทำประกันรับมือความเสี่ยง เป็นต้น ถ้าเกิดเหตุดังกล่าวข้างต้น เราพร้อมรับมือ กับเหตุการณ์เหล่านี้ อย่างไร และจัดการยังไง
7. จบความกังวลทางการเงินให้ได้ในวัยก่อน 40 หากเป็นเรื่องเกษียณทางการงานนั้น แล้วแต่คุณว่าอยากจะหยุดทำงานเมื่อไหร่ แต่หากเป็นเรื่องทางการเงินแล้ว เราควรหมดกังวล ตั้งแต่ช่วง 40 ปี การหมดความกังวลได้เร็ว จะทำให้เรามีเวลาในชีวิตเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลครอบครัว ท่องเที่ยวแบบไร้ความกังวล ทำงานเพื่อสังคมได้ โดยไม่ต้องห่วงปากท้อง หรือการใช้เวลากับงานอดิเรกที่เรา ทั้งนี้ การหมดกังวลไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีเงิน100ล้าน หรือ1000ล้าน แต่หมายถึง เราต้องสามารถจัดสรรเรื่องการเงิน ได้อย่างมีระบบและระเบียบ มีเงินพอกินพอใช้ ทั้งครอบครัว มีเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด เป็นต้น
สุดท้ายอยากชวนให้ทุกคนพัฒนาตัวเอง และหมั่นศึกษาอยู่ตลอดเวลา อย่าคิดเรื่องการเงิน เป็นเรื่องไกลตัว 7 ข้อคิดเหล่านี้ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยพาตัวเราจากปัจจุบันไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เปลี่ยนจากความฝันให้เป็นความจริง เพื่อนำไปตอบสนองให้กับชีวิตเราในหลายๆ ด้าน
ขอขอบคุณที่มาจาก: ไปให้ถึง100ล้าน