แนะ”สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันอาหารเป็นพิษ
![](https://kaijeaw.com/wp-content/uploads/2017/04/แนะสุก-ร้อน-สะอาด-ป้องกันอาหารเป็นพิษ-1024x512.jpg)
advertisement
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนในช่วงฤดูร้อนอาหารจะบูดเสียได้ง่าย ประชาชนจึงอาจป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้ โดยเฉพาะ 10 เมนู ที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากรับประทานในช่วงฤดูร้อน รวมถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังมาถึงนี้ แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการปรุงสุกๆดิบๆ และหากพบว่าอาหารมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ
วันนี้ (3 เมษายน 2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาหารจึงบูดเสียได้ง่าย ประกอบกับใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนมักจะซื้ออาหารหรือน้ำดื่มจากนอกบ้านมารับประทานร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล ซึ่งอาจมีเมนูอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารหรือทำให้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษได้[ads]
advertisement
![โรคอาหารเป็นพิษ-1](https://kaijeaw.com/wp-content/uploads/2017/04/โรคอาหารเป็นพิษ-1.jpg)
จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 มีนาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 28,138 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี (14.11%) 25-34 ปี (11.27%) และ 45-54 ปี (11.09%) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ร้อยเอ็ด ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ) สารพิษหรือสารเคมี มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารไม่สะอาด และในอาหารที่ปรุงไว้นานแล้วไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู
advertisement
![ลาบดิบ-1](https://kaijeaw.com/wp-content/uploads/2017/04/ลาบดิบ-1.jpg)
ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง/ยำทะเล 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน เมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน
สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ควรเลือกร้านที่แน่ใจว่าสะอาดหรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย เลือกรับประทานน้ำดื่ม หรือน้ำแข็งที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก อย. ที่สำคัญ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน จะช่วยป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้[ads]
advertisement
![อาหารร้อน-1](https://kaijeaw.com/wp-content/uploads/2017/04/อาหารร้อน-1.jpg)
ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า อาจมีไข้ เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้สารละลายเกลือแร่โออาร์เอส หรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการต่างๆข้างต้นไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข