พฤติกรรมแย่ๆ..ทำร้ายสุขภาพเท้า!! เลิกซะ!!
advertisement
สุขภาพเท้า ของคุณเป็นอย่างไรบ้างคะ มีอาการปวดเท้ากันบ่อยๆ บ้างหรือเปล่า เพราะเท้าของคนเราจะต้องรับน้ำหนักเป็น 3 เท่าของน้ำหนักตัวเวลาเดิน ในแต่ละวันเท้าของเราก็จะต้องทำงานหนักมาก โดยเฉพาะวัยทำงาน สาวๆ ที่ชอบใส่รองเท้าสูงๆ ตามแฟชั่น กันเป็นประจำ นอกจากว่าเราจะดูแล รักษาเท้าของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ พฤติกรรมหลายๆ อย่างที่ไม่ดีต่อสุขภาพเท้าก็ควรจะเลิกซะ โดยเฉพาะพฤติกรรมบางอย่างที่เรามักจะทำโดยไม่รู้ตัว อะไรบ้างนั้นมาดูกันค่ะ
[ads]
1. น้ำหนักเพิ่ม เพราะเท้าเป็นอวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักตัวอยู่เสมอ การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมส่งผลต่อสุขภาพเท้าไม่น้อย เพราะหมายความว่าเท้าทั้งสองข้างจะต้องแบกรับภาระมากกว่าเดิม น้ำหนักที่กดลงที่เท้าทั้งสองข้างก็มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ปวดเท้าง่าย หากปล่อยทิ้งไว้นานก็จะนำไปสู่โรคเอ็นร้อยหวายอักเสบหรือโรคข้อต่างๆ เสื่อมได้
วิธีแก้ไข : รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
2. การเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง เช่นพื้นกระเบื้อง ซีเมนต์ หรือแม้แต่พื้นในบ้านที่แบนและกระด้างไม่ยืดหยุ่น เพราะความแข็งของพื้นทำให้น้ำหนักถ่ายเทลงไปอย่างผิดลักษณะ เกิดเป็นอาการปวดส้นเท้า ฝ่าเท้า หรือแม้กระทั่งปวดเข่าตามมา โดยธรรมชาติเท้าของคนเราถูกออกแบบมาให้เดินบนพื้นที่เรียบและอ่อนนุ่มอย่างเป็น ธรรมชาติเช่น พื้นดิน ขณะที่ย่ำแต่ละก้าวลงไป พื้นที่มีลักษณะยืดหยุ่นหรือยวบได้จะยุบลงเป็นรอยเท้า ซึ่งซัพพอร์ตกับการลงน้ำหนักของเท้าอย่างเป็นธรรมชาติ
วิธีแก้ไข : หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็งเป็นเวลานาน และสวมใส่รองเท้าอย่างเหมาะสมทุกครั้ง
3. การใส่รองเท้าส้นแบนหรือรองเท้าแตะนิ่มๆ เกินไป เพราะ เมื่อใส่ไปนานๆ ความสบายจะกลายเป็นความปวดเมื่อยจนอาจถึงขั้นอักเสบขึ้นมาแทน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะรองเท้าที่มีพื้นรองเท้านุ่มนิ่มทำให้แนวโน้มที่จะย่างเดินโดยมีลักษณะเท้าบิดเข้าด้านในมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะการเดินที่ทำให้เท้านิ้วโป้งและบริเวณที่ไล่ลงมารับน้ำหนัก มากกว่าส่วนอื่นๆ การเดินลักษณะเช่นนี้จึงเสี่ยงต่ออาการ บาดเจ็บมาก ไม่ว่าจะเป็นปวดส้นเท้า เอ็นส้นเท้าอักเสบ เอ็นร้อยหวายอักเสบ ปวดแข้ง ปวดเข่า ลามไปจนถึงปวดเอวและหลังช่วงล่าง
วิธีแก้ไข : แนะนำให้เลือกรองเท้าส้นแบนหรือรองเท้าแตะที่พื้นไม่นุ่มนิ่มจนเกินไป
4. การเดินที่ผิดวิธี สังเกตจากน่องขาที่โตเกินไป นอกจากคนที่ออกกำลังกายหนักๆ จนไขมันที่ขาหายไปและเห็นก้อนกล้ามเนื้อได้ชัดเจน สำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินและมีท่วงท่าการเดินที่ไม่ถูกลักษณะทำให้กล้ามเนื้อที่น่องทำงานหนักเกินไป
วิธีแก้ไข : ปรับเปลี่ยนการเดินใหม่โดยเริ่มจากในแต่ละครั้งที่ขึ้นบันได แทนที่จะก้าวพรวดๆ ให้ถึงด้านบนเร็วๆ ให้หยุดทุกขั้นที่ก้าวแล้วเหยียดขาให้น่องทั้งสองข้างตึง ก่อนจะก้าวขึ้นขั้นต่อไป และไม่เดินเร็วๆ ติดต่อกันนานเกินไป
5. ออกกำลังกายอย่างผิดวิธี เพราะจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อหรือกระดูกบาดเจ็บได้ รวมไปถึงอวัยวะอย่างเท้าด้วย อย่างเช่นการวิ่งอย่างเร็วๆ โดยไม่ได้มีการวอร์มร่างกายที่เพียงพอ หรือการเพิ่มสปีดขึ้นอย่างกะทันหัน รวมทั้งไม่มีการยืดเส้นหลังการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วย
วิธีแก้ไข : ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี มีการวอร์มร่างกายก่อนและยืดเส้นหลังออกกำลังกาย รวมถึงสวมใส่รองเท้ากีฬาทุกครั้ง
6. ไม่สวมใส่รองเท้าสำหรับออกกำลังกายเพราะคิดว่าไม่จำเป็น เป็นความคิดที่ผิดมากเพราะรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย ถูกออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักตัวเวลาออกกำลัง การไม่สวมใส่และการเลือกรองเท้าใส่ออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม ไม่พอดีกับขนาดของเท้า ก็มีส่วนทำให้เท้ารับน้ำหนัก แรงกระแทกจนเกินไป
วิธีแก้ไข : สวมใส่รองเท้าออกกำลังกายทุกครั้ง และเลือกคู่ที่ใส่ได้พอดีไม่แน่นหรือหลวมเกินไป
7. ใส่รองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้า จะทำให้เท้าเกิดการเกร็งหรือถ้าแน่นเกินไปก็จะเกิดการบีบรัด
วิธีแก้ไข : โดยปกติขนาดเท้าของคนเราทั้ง 2 ข้างจะต่างกัน (แต่ไม่มาก) ดังนั้นควรเลือกซื้อรองเท้าตามขนาดเท้าข้างที่ใหญ่กว่า และอย่าซื้อรองเท้าที่คับจนเกินไปเพราะคิดว่ารองเท้าจะยืดออกเมื่อใส่ไปนานๆ นั่นเป็นความเชื่อที่ผิด ให้เราเลือกรองเท้าให้พอดีในขณะที่ซื้อจะเป็นวิธีการเลือกรองเท้าที่ถูกต้องที่สุดค่ะ
8. ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไปและเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างแบบสูงที่เกินกว่า 3 นิ้วเป็นต้นไป เพราะอาจจะทำให้อาการปวดเท้าหรืออาการต่างๆ นั้นตามมาได้อย่างแน่นอน
วิธีแก้ไข : ไม่ใส่รองเท้าแบบสูงที่เกินกว่า 3 นิ้วพร้อมทั้งควรที่จะเลือกทำกิจกรรมที่มีลักษณะนั่งให้มากๆ เพื่อไม่ให้เท้าของเราต้องรองรับน้ำหนักมากจนเกินไป
หลักการดูแลเท้าให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ ทำได้ดังนี้
1. ดูแลความสะอาดของเท้า ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ และเช็ดเท้าให้แห้งทันทีในทุกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า และอย่าลืมทานบำรุงเท้าเป็นประจำด้วย
2. ตัดเล็บให้สั้นพอดี ตัดเล็บเท้าอย่างถูกวิธีโดยตัดตามแนวขอบเล็บเท่านั้น ไม่ตัดเล็บเซาะเข้าไปทางด้านข้างของเล็บ
3. ถ้าอากาศเย็นให้ใส่ถุงเท้านอน
4. ใส่รองเท้าตลอดเวลาแม้จะอยู่ในบ้าน
5. ใส่รองเท้าที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ ขนาดพอดี ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป
6. เลือกรองเท้าที่สวมใส่ให้เหมาะกับกิจกรรมที่ทำ อยากเช่น เมื่อออกกำลังกายให้ใส่รองเท้าสำหรับออกกำลังกายเท่านั้น
7. ดูแลและรักษาน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์ที่พออยู่เสมอ
8. ออกกำลังเพื่อบริหารข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า
9. ไม่ใช้กำลังเท้าเยอะมากจนเกินไปเช่นการเดินเร็วๆ เป็นเวลานานๆ
10. นวดเท้าเบาๆ เป็นประจำเพื่อเป็นการกระตุ้นเท้า
[yengo]
ท่าบริหารทำได้โดย
1. กระดกข้อเท้าขึ้นและลงสลับกันช้าๆ
2. หมุนข้อเท้า โดยหมุนเข้าและหมุนออกช้าๆ
3. ใช้นิ้วเท้าจิกผ้าที่วางอยู่บนพื้นเพื่อบริหารกล้ามเนื้อเล็กๆในเท้า
4. นั่ง ยกขาขึ้น เหยียดเข่าตึง แล้วกระดกข้อเท้าขึ้นค้างไว้นับ 1-6 ในใจถือเป็น 1 ครั้ง
เพราะ เท้าทั้งสองข้างเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ใช้งานตลอดทั้งวันตั้งแต่เราตื่นนอน จนกระทั่งถึงเวลาเข้านอน เท้าที่ผ่านการใช้งานตลอดทั้งวันเมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้เมื่อยล้า และอาจมีความผิดปกติกับเท้าของเราได้ เป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพเท้าให้แข็งแรงสมบูรณ์ดีอยู่เสมอ และอย่าลืมหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เท้าสุขภาพแย่ หรือทำงานหนักมากเกินไปด้วยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com