สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเฉลย ทำไมเรียกไก่ฟ้าหน้าเขียว ทั้งที่ใบหน้าสีฟ้า

advertisement
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ทางเฟซบุ๊ก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ออกมาโพสต์ไขข้อสงสัยเรื่อง “ไก่ฟ้าหน้าเขียว” สัตว์ป่าคุ้มครอง ที่มีสถานะ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR-Critically Endangered) จากการใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ธรรมชาติ โดยระบุว่า
advertisement

ไก่ฟ้าหน้าเขียว Malay Crested Fireback (Lophura rufa) เป็น 1 ใน 4 ชนิด ของไก่ฟ้าสกุล Lophura ที่พบในประเทศไทย ที่มีสีสันสวยงามชวนมอง ทำให้ดึงดูดความต้องการครอบครองพวกมันได้ไม่น้อย
สาเหตุของการล่าหลัก ๆ จะมีอยู่ 2 ประการ คือ การล่าเพื่อเป็นอาหารหรือขายเป็นสัตว์เลี้ยง และถิ่นอาศัยที่เหมาะสมถูกทำลายลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไก่ฟ้าหน้าเขียวถูกจัดสถานภาพทางการอนุรักษ์ในระดับโลกเป็นสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU – Vulnerable) ตามการจัดสถานภาพของ IUCN Red List 2020
advertisement

สำหรับประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2560) ได้จัดไก่ฟ้าหน้าเขียวให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR-Critically Endangered) จากการใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ธรรมชาติ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หากมีการล่า การค้าไก่ฟ้าหน้าเขียวจากธรรมชาติ ผิดกฎหมายแน่นอน
“ไก่ฟ้าหน้าเขียว” จัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ. 2546 โดยให้เหตุผลว่าควรส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์เพิ่มเติม เพื่อป้องกันมิให้สูญพันธุ์ และเพื่ออนุญาตให้บุคคลมีไว้ในครอบครอง ค้า และเพาะพันธุ์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
advertisement

ลักษณะทั่วไป ใบหน้ามีผิวหนังเปลือยสีฟ้าสดใส ปีกดำและเหลือบน้ำเงิน แข้งและตีนสีแดง ตัวผู้ : หงอนและขนลำตัวสีดำเหลือบม่วง-เขียว หลังตอนท้ายสีเหลืองไล่ระดับเป็นสีแดงเข้มบริเวณตะโพกคล้ายเปลวเพลิง (จึงเป็นที่มาของชื่ออังกฤษว่า Fireback) มีขีดขาวเส้นเล็ก ๆ กระจายบริเวณสีข้าง ขนหางคู่กลางสีขาว ตัวเมีย : ขนลำตัวและหางสีน้ำตาลแดง ท้องตอนล่างสีคล้ำมีลายเกล็ดสีขาวสลับดำขนาดใหญ่
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย อาศัยอยู่ในพื้นป่าดิบชื้นที่ราบต่ำ แพร่กระจายพันธุ์ในคาบสมุทรไทยมลายู ตั้งแต่เขตตะนาวศรีในประเทศเมียนมา ภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา)
advertisement

พฤติกรรม ไก่ฟ้าหน้าเขียวอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ มีตัวผู้เป็นจ่าฝูง หากินตอนกลางวันตามป่าดิบชื้นในระดับความสูงที่ไม่มากนัก อาจพบใกล้ลำธาร ไม่ค่อยออกมาในที่โล่ง เมื่อเห็นศัตรูจะวิ่งหนีเข้าซ่อนตามพุ่มไม้ บางครั้งจะบินหนีไปใกล้ ๆ แล้วลงเดินวิ่งต่อไป
การสืบพันธุ์ ผสมพันธุ์ประมาณเดือนเมษายน – มิถุนายน ทำรังใต้พุ่มไม้เตี้ย ๆ ที่รกทึบ ทำรังด้วยใบไม้และใบหญ้าแห้ง ๆ วางไข่ครั้งละประมาณ 4 – 8 ฟอง ตัวเมียจะฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 24 – 25 วัน ลูกไก่ฟ้าหน้าเขียว แรกเกิดมีขนอุยคลุมทั่วตัว เมื่อลืมตาลุกขึ้นยืนเดินได้ ก็จะเดินตามแม่ไปหาอาหารได้หลังออกจากไข่ 3 – 4 ชั่วโมง
advertisement

ในส่วนของชื่อไก่ฟ้าหน้าเขียวที่ออกจะขัดแย้งกับหนังเปลือยสีฟ้าสดบนใบหน้าอย่างชัดเจนนั้น เรามีคำตอบมาให้ทุก ๆ คนหายแคลงใจกัน คือ ในอดีตคนรุ่นก่อน ๆ ไม่ว่าสีฟ้า สีเขียว หรือสีคราม มักจะถูกเรียกรวมๆ ว่า “สีเขียว” จึงเป็นที่มาของ ไก่ฟ้าหน้าเขียว ที่อาจจะค้านสายตาของคนรุ่นใหม่วัยสื่อโซเชียล
ขอขอบคุณที่มาจาก : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand