หลายคนไม่เคยรู้!! เปิดประวัติสุดอื้อฉาว “ฟอลคอน” เสือผู้หญิงแห่งอโยธยา
advertisement
เป็นอีกตัวละครสำคัญของละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเลยละค่ะ สำหรับตัวละครของ "คอนสแตนติน ฟอลคอน" หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ผู้มีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งหากดูตามเนื้อผ้าแล้ว ขุนนางต่างชาติผู้นี้มิได้หวังดีต่อสยามเท่าไรนัก และยังมีนิสัยเจ้าชู้เอาแต่ได้อีกด้วย
แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่า ความเจ้าชู้ของเขาที่เราได้เห็นในละครนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของเรื่องจริง เพราะขุนนางผู้นี้ยังมีประวัติอีกมากมาย ในนิสัยเสือผู้หญิงของเขา โดยเฟซบุ๊กเพจ วิพากษ์ประวัติศาสตร์ ได้ออกมาให้ข้อมูล ว่า…
advertisement
"ผู้หญิงในชีวิตของฟอลคอน
คนส่วนใหญ่ทราบว่าคอนสตันซ์ ฟอลคอน หริอ ออกญาวิไชยเยนทร์ มีภรรยาเอกชื่อ มารี กีมาร์ (Marie Guimar) หรือ มาดามกงสต็องซ์ (Madame Constance) ซึ่งคนไทยรู้จักในชื่อ “ท้าวทองกีบม้า”
แต่น้อยคนจะทราบว่าก่อนที่ฟอลคอนจะแต่งงานกับมารี เขาเป็น “เสือผู้หญิง” ที่เคยมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตา จนเกือบจะแต่งงานกับคนอื่นมาแล้วด้วย
หลักฐานชิ้นสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องนี้คือ Mémoire en forme de lettre d'un anglais catholique au père d'Orléans, jésuite, sur l’histoire de monsieur Constance et de la révolution arrivée à Siam en 1688 écrite par ce père หรือจดหมายของ คาทอลิกชาวอังกฤษคนหนึ่งส่งถึงบาทหลวงดอร์เลอ็องส์ (Père Pierre-Joseph d'Orléans) ต้นฉบับอยู่ที่หอจดหมายเหตุ คณะมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส (Missions étrangères de Paris) จดทะเบียนในหมายเลข Vol.No. 854 ซึ่ง อี. ดับเบิลยู ฮัตชินสัน (E.W. Hutchinson) ได้นำเนื้อหาบางส่วนมาตีพิมพ์ในหนังสือ Advanturers in Siam in the Seventeenth Century
บาทหลวงดอร์เลอ็องส์เป็นนักบวชนิกายเยซูอิตของฝรั่งเศส เป็นผู้แต่งหนังสือชีวประวัติประวัติของฟอลคอนในชื่อ Histoire de M. Constance, premier ministre du roi de Siam, et de la dernière révolution de cet État ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๖๙๐ (พ.ศ. ๒๒๓๓) หลังจากฟอลคอนถูกประหารชีวิตไปแล้วสองปี โดยที่ไม่เคยได้พบฟอลคอนเลย
advertisement
เนื้อหาหลายตอนเข้าใจว่าสรุปมาจากบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบสเกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน (Mémoire du père de Beze sur la vie de Constance Phaulkon) ของ บาทหลวงนิกายเยซูอิตชาวฝรั่งเศสชื่อ โคลด เดอ แบส (Claude de Bèze) ผู้มีความใกล้ชิดกับฟอลคอน และกล่าวถึงฟอลคอนในแง่บวกมาก แต่หนังสือของบาทหลวงดอร์เลอ็องส์นำเสนอภาพฟอลคอนในแง่บวกจนเลิศลอยยิ่งกว่าที่บาทหลวง เดอ แบสเขียนเสียอีก
จดหมายของ “คาทอลิกชาวอังกฤษ” มีเนื้อหาโต้แย้งแนวคิดและประวัติด้านบวกฟอลคอนที่บาทหลวงดอร์เลอ็องส์เขียน ด้วยนำประวัติด้านลบของฟอลคอนมาหักล้างจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องผู้หญิงในชีวิตของฟอลคอน
“คาทอลิกชาวอังกฤษ” ระบุว่า ตั้งแต่ฟอลคอนได้รับราชการในตำแหน่ง สุรสงคราม (Suria-Song-craam) เขาได้รับหญิงสาวชาวไทยคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนเป็นบำเหน็จพร้อมกับทรัพย์สินบ้านเรือน ฟอลคอนมีบุตรสาวหนึ่งคนกับหญิงชาวไทยคนนี้ซึ่งอยู่มาจนอายุ ๘-๙ ขวบ
หญิงชาวไทยคนนี้น่าจะเป็นคนเดียวกับที่ปรากฏในบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอ แบส ว่าเป็นนางข้าหลวงที่เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์พระราชทานให้ฟอลคอนเพื่อหวังจะผูกมัดเขาไว้ เพราะพระนางทรงเห็นว่าฟอลคอนกำลังเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งก็มีบุตรสาวด้วยกัน [ads]
advertisement
“คาทอลิกชาวอังกฤษ” กล่าวต่อไปว่าฟอลคอนยังเคยมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวชาวมอญคนหนึ่ง ซึ่งภายหลังตกเป็นหนึ่งในบาทบริจาริกาของพระมหาอุปราชในเวลานั้น (พระเจ้าเสือ)
นอกจากนี้ ฟอลคอนยังคบหากับหญิงสาวคริสเตียนอีกสองคน และเคยสัญญาด้วยว่าจะแต่งงานกับทั้งคู่ คนหนึ่งเป็นบุตรสาวของ ดอน โจเซฟ (Don Joseph) ชาวคาสตีล (สเปน) จากมะนิลา อีกคนชื่อว่า คาโตนา (Catona) เป็นเด็กสาวในอุปการะ (creaçaon) ของหญิงชื่อโมนิกา ซูอาเรซ (Monica Suarez) ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนโปรตุเกสของกรุงศรีอยุทธยา
(creaçaon เป็นคำที่ชาวโปรตุเกส ใช้เรียกเด็กในอุปการะ ซึ่งอาจจะเป็นลูกทาสในบ้าน เด็กกำพร้า หรือเด็กอื่นๆ ที่ถูกรับมาเลี้ยงดู ซึ่งบางครั้งอาจได้รับความรักเหมือนกับลูกแท้ๆ)
เรื่องระหว่างฟอลคอนกับบุตรสาวของดอน โจเซฟ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงอีก เหลือแต่คาโตนาซึ่งฟอลคอนไม่สามารถสามารถแต่งงานกับนางได้นอกจากจะยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เพราะฟอลคอนแม้ว่าโดยกำเนิดจะเป็นคาทอลิก แต่ด้วยความที่เติบโตมากับชาวอังกฤษและอยู่ในแวดวงของอังกฤษมานานจึงเปลี่ยนไปนับถือนิกายแองกลิคันอย่างชาวอังกฤษ ด้วยเหตุนี้เขาจึงยอมเปลี่ยนมานับถือนิกายคาทอลิกอีกครั้ง (ซึ่งต่างจาก เดอ แบสที่ระบุว่าเขาเปลี่ยนนิกายเพื่อจะแต่งงานกับมารี)
เมื่อเปลี่ยนนิกายแล้ว ฟอลคอนก็เตรียมจะแต่งงานกับคาโตนา โดยตามธรรมเนียมการแต่งงานของโปรตุเกสในอินเดียจะต้องมีพ่อแม่ทูนหัว (godparent) ให้คู่บ่าวสาว จึงมีบาทหลวงผิวดำชื่อซิลเวสเตอร์ (Fr. Sylvester) ซึ่งเป็น creaçaon ของโมนิกา ซูอาเรซ รับเป็นพ่อทูนหัว ส่วนตัวโมนิกา ซูอาเรซรับเป็นแม่ทูนหัว
advertisement
แต่การหมั้นหมายกลับถูกยกเลิกด้วยการแทรกแซงของบาทหลวงคณะเยซูอิตเชื้อสายฟลานเดอร์สองรูปที่เป็นผู้ชักชวนให้ฟอลคอนกลับมานับถือนิกายคาทอลิก คือบาทหลวงอ็องตวน โตมาส์ (Antione Thomas) ซึ่งเป็นอธิการของคณะเยซูอิตในสยาม กับบาทหลวงฌ็อง-บัพติสต์ มัลโดนาโด (Jean-Baptiste Maldonado)
โมนิกา ซูอาเรซได้รับค่าชดเชยจากการที่ฟอลคอนยกเลิกการแต่งงานเป็นเงินเพียง ๕๐๐ catis ฝ่ายคาโตนาได้แต่งงานกับชายผิวดำชื่อฮีแลร์ (Hilaire) ซึ่งเป็นผู้กำกับนักร้องประสานเสียงในโบสถ์โดมินิกัน ชุมชนโปรตุเกสแทน
หลังจากนั้นฟอลคอนจึงแต่งงานกับหญิงสาวชาวญี่ปุ่นชื่อ มารี กีมาร์ ซึ่งลือกันว่าเป็นลูกชู้ที่เกิดจากบาทหลวงผู้ใหญ่คณะเยซูอิตเชื้อสายซิซิเลียนชื่อ โธมัส วัลกัวเนรา (Thomas Vulguaneira) ผู้มาออกแบบก่อสร้างป้อมค่ายให้สยาม จนต้องย้ายไปประจำที่มาเก๊าเนื่องจากข่าวลืออื้อฉาวเรื่องนี้
“คาทอลิกชาวอังกฤษ” ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง แต่ก็กล่าวในทำนองว่ามารดาของมารีมีพฤติกรรมที่ไม่ซื่อตรงต่อฟานิค (Fanique) ผู้เป็นสามี และยังกล่าวในทำนองเสียดสีว่า “…เมื่อข้าพเจ้าบอกท่านว่าฟานิคเป็นคนผิวดำ ขออย่าเพิ่งค้านว่าลูกบางคนของเขามีผิวขาวส่วนคนอื่นผิวคล้ำกว่า เพราะหากทำเช่นนั้นเท่ากับท่านจะเปิดเผยเรื่องอื้อฉาวออกมาเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่ฟอลคอนมีกับบาทหลวงนิกายเยซูอิต ว่า “มันจะเป็นเรื่องยืดยาวเกินไปที่จะกล่าวในที่นี้ นอกจากนี้ยังส่งผล (ต่อเกียรติ) ของคณะของท่าน [เยซูอิต] มากเกินไป แม้ว่าจะมีพระเยซูอิตคนเดียวที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเขาถูกเรียกตัวกลับไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวเพียงว่า คุณพ่อตาชารด์ [บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ (Guy Tachard) แห่งคณะเยซูอิต ผู้สนิทสนมกับฟอลคอน] โดยที่ไม่ตั้งใจ ข้าคิดว่าทำให้ทุกคนสนุกสนานอยู่มาก ด้วยการพูดอยู่บ่อยครั้งว่า มร.กงสต็องซ์ มักเรียกขานพวกเยซูอิตว่าเป็นพี่น้อง”[ads2]
advertisement
ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนนิกายของฟอลคอน การที่บาทหลวงเยซูอิตแทรกแซงการแต่งงานของฟอลคอน รวมถึงการแต่งงานกับมารีซึ่งอาจเป็นลูกสาวบาทหลวงคณะเยซูอิต สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างฟอลคอนกับคณะเยซูอิตเป็นอย่างดี ซึ่งปรากฏหลักฐานเขามีผลประโยชน์ผูกพันอยู่กับคณะเยซูอิตอย่างมาก และได้คิดการ “แผน” ร่วมกับบาทหลวงมัลโดนาโดในการพยายามชักนำให้สมเด็จพระนารายณ์และชาวสยามเปลี่ยนศาสนาโดยการขอให้อธิการคณะเยซูอิตแห่งกรุงโรมส่งบาทหลวงเยซูอิตเข้ามาในสยาม และภายหลังบาทหลวงเยซูอิตฝรั่งเศสก็เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการทางศาสนาโดยให้ฟอลคอนเป็นผู้ประสานงานในสยาม โดยฟอลคอนได้ผูกมิตรกับบาทหลวงตาชารด์ในคณะทูตฝรั่งเศสให้เป็นผู้ดำเนินการแทนตนในฝรั่งเศส
เมื่อฟอลคอนแต่งงานแล้ว บาทหลวง เดอ แบส ระบุว่าเขาก็เลิกร้างกับนางข้าหลวงชาวไทย แต่นางนั้นก็เขามาประจบประแจงโดยมีเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพทรงหนุนอยู่ สุดท้ายนางก็กลับมาสมสู่อยู่กินกับเขาใหม่หลังจากที่แต่งงานไม่นาน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องลี้ลับนักและมารีที่เป็นภรรยาหลวงก็สืบรู้จนได้ แต่นางไม่ได้แสดงความไม่พอใจต่อความไม่ซื่อสัตย์ของฟอลคอนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามนางกลับขอเอาลูกติดของหญิงข้าหลวงคนนั้นมาเลี้ยงดูเหมือนเป็นลูกของตนเอง และให้ได้รับเกียรติเสมอบุตรแท้ๆ ของนางด้วย
ฝ่ายฟอลคอนเห็นความเสียสละของมารีก็คงจะรู้สึกละอายใจ สุดท้ายเขาจึงตัดใจส่งนางข้าหลวงคนนี้ขึ้นไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลก และมีคำสั่งไปถึงเจ้าเมืองห้ามไม่ให้นางกลับมากรุงศรีอยุทธยาเป็นอันขาด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลได้ก็ตาม แม้ว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพจะทรงรบเร้าให้เขาเรียกตัวนางกลับมา เขาก็ไม่ยอม และยินดีจะผิดใจกับพระองค์
บาทหลวง เดอ แบส ได้กล่าวไว้ว่า “การเอาชนะใจตนเองได้เพื่อประโยชน์แก่การจรรโลงศักดิ์ศรีของตนไว้นั้น เป็นเหตุให้เขาได้รับความคุ้มกันในกาลต่อมา มิให้ตกเป็นคนอ่อนแอเช่นที่แล้วๆ มานั้นอีก และตั้งแต่นั้นมากก็อยู่กินกับมาดามก็องสตังซ์ตลอดมาด้วยความเรียบร้อยหาได้ยากยิ่งในชมพูทวีป ด้วยภายในประเทศนี้จะหาบุคคลที่ประพฤติขัดต่อพระคริสต์ธรรมได้ไม่ยากเลย บรรดาชาวยุโรปและแม้แต่ผู้ที่นับหน้าถือตากันว่าเป็นสัปบุรุษก็มักจะนิยมทำตามแบบชาวพื้นเมือง กล่าวคือมีหญิงสาวไว้บำเรอตนเองเป็นโขยง เลือกล้วนแต่นางทาสีที่มีรูปโฉมโนมพรรณงดงามที่สุดเท่าที่จะรวบรวมไว้ได้ และแทนที่จะมีตวามละอายกลับถือว่าเป็นสิ่งประดับบารมีของตนไปเสียอีก”
เช่นเดียวกับบาทหลวงดอร์เลอ็องส์กล่าวไว้ว่า “เขาได้อยู่กับคู่ชีวิตผู้น่าชื่นชมด้วยความสุขและราบรื่นซึ่งอาจถือเป็นแบบอย่างสำหรับคู่สมรสอื่น ๆ ได้”
แต่ “คาทอลิกชาวอังกฤษ” โต้เรื่อง “ความสุขและราบรื่น” ในชีวิตสมรสของฟอลคอนและมารีที่บาทหลวงดอร์เลอ็องส์นำเสนอไว้ โดยกล่าวว่าชีวิตคู่ของทั้งสองเกิดความร้าวฉานมาจากเด็กสาวชาวจีนชื่อ “คลาร่า (Clara)” ซึ่งเป็นนางทาสในอุปการะของมารี ซึ่งถูกฟอลคอนหมายตาไว้ จนเมื่อมารีรู้เรื่องนี้ นางจึงพาเด็กสาวในอุปการะทั้งหมดออกจากลพบุรีไปที่อยุทธยา เข้าใจว่าเพื่อป้องกันให้เด็กสาวเหล่านี้ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของฟอลคอน
advertisement
“นี่คือตัวอย่างของ ‘ความสุขและราบรื่น’ ที่ว่ามา ในช่วงกลางเทศกาลมหาพรต (Lent) ของปี ๑๖๘๘ มาดามกงสต็องซ์ (ในทันทีทันใด) เดินทางจากละโว้มายังสยาม [กรุงศรีอยุทธยา-ผู้เขียน] พร้อมกับเด็กสาว creaçaon ของนางทั้งหมด เหตุผลก็คือเด็กสาวชาวจีนที่ชื่อคลาร่าได้กลายเป็นเป้าความปรารถนาของสามีของนาง เด็กสาวคนนี้เป็นคนเดียวกับที่ (หลังจากนั้น) นางได้พาลงไปที่เมืองบางกอกพร้อมกับนางและเป็นคนที่ท่านเรียกว่าเป็นแม่บ้าน [แต่ความจริงแล้ว-ผู้เขียน] เด็กสาวคนนี้เป็นทาสของนาง และข้าพเจ้าเชื่อว่าก็ยังเป็นอยู่ในตอนนี้…”
หลังจากฟอลคอนถูกประหารชีวิตใน ค.ศ. ๑๖๘๘ มารีถูกคุมขังอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาเนื่องจากออกหลวงสุรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) มีความปรารถนาในตัวนาง แต่นางหนีมาได้ และได้เดินทางไปยังบางกอกพร้อมกับบุตรชายชื่อจอร์จและคลาร่า เพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทหารฝรั่งเศสซึ่งอยู่ที่นั่น แต่สุดท้ายฝรั่งเศสตัดสินใจส่งตัวนางคืนให้กับฝ่ายไทยเพื่อเป็นการสงบศึก มารีถูกจำคุกอยู่สองปีก่อนจะพ้นโทษ
ส่วนคลาร่านั้นไม่ปรากฏชะตากรรมที่ชัดเจน แต่ถ้าพิจารณาจากจดหมายของ “คาทอลิกชาวอังกฤษ” ก็เชื่อว่านางน่าจะยังมีชีวิตอยู่ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา และคงเป็นทาสของมารีอยู่ตามเดิม[ads3]
เอกสารอ้างอิง
– กรมศิลปากร. รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๒.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: กรม, ๒๕๕๕.
– เดอะ แบส, บาทหลวง. บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน. พิมพ์ครั้งที่ ๒.
– สปอร์แตซ, มอร์กาน. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: มติชน. ๒๕๕๔.
– Hutchinson, E.W. Adventurer in Siam in the Seventeenth Century. London: Royal Asiatic Society, 1940.
ภาพประกอบ : คลาร่า (รับบทโดย ซูริ ซูซานน่า โรเนล) ฟอลคอน (รับบทโดย หลุยส์ สก๊อต) และมารี (รับบทโดย สุษิรา แองจิลีน่า แน่นหนา) จากละครบุพเพสันนิวาส"
advertisement
ยิ่งศึกษา ยิ่งอ่าน ก็ทำให้หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประวัติศาสตร์ไทย มีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย และยิ่งกว่านิยายเสียด้วย
เรียบเรียงโดย : Kaijeaw.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิพากษ์ประวัติศาสตร์